สวัสดิภาพสัตว์ คืออะไร และมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Walfare) หมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์บนพื้นฐานการคำนึงถึงหลัก 2 ประการคือ 1. สภาพทางร่างกายสรีรวิทยาของสัตว์ และ 2. สภาพทางจิตใจของสัตว์ การจัดการสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีป้องกันไม่ให้เกิดความเครียด ทำให้สัตว์แข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคโดยธรรมชาติ ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในระดับสากลทั่งเชิงปรัชญาและทางวิทยาศาสตร์ว่ามีอะไรเป็นกรอบในการปฏิบัติ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1967 คณะมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ได้บัญญัติความหมายของสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งใช้เป็นกรอบในการจัดการฟาร์ม เรียกว่า เสรีภาพ 5 ประการ (FAWC,2005) ได้แก่1. สัตว์ต้องปราศจากความหิวและกระหาย Freedom from Hunger and Thirst
ด้วยการจัดให้สัตว์ได้รับน้ำสะอาดและอาหารที่มีคุณภาพตามความต้องการของสัตว์อย่างเพียงพอเพื่อให้สัตว์มีสุขภาพดีและแข็งแรง
2. สัตว์ต้องปราศจากความไม่สะดวกสบาย Freedom from discomfort
ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่นการมีร่มเงา และมีพื้นที่พักผ่อนที่สะดวกสบาย และสะอาด
3. สัตว์ต้องปราศจากความเจ็บปวด (ได้รับบาดเจ็บหรือเชื้อโรค) Freedom from Pain, Injury or Disease
ด้วยการป้องกันหรือหากสัตว์ได้รับบาดเจ็บหรือเกิดโรค โดยต้องชันสูตรและรักษาโดยเร็ว
4. สัตว์ต้องได้แสดงออกตามพฤติกรรมธรรมชาติ Freedom to Express Nomal Behavior
ด้วยการจัดพื้นที่เพียงพอ มีอุปกรณ์ที่จำเป็นตามพฤติกรรมสัตว์ และการอยู่รวมฝูงในสังคมสัตว์แต่ละชนิด
5. สัตว์ต้องปราศจากความกลัวและความกังวลใจ Freedom from Fear and Distress
ด้วยการแน่ใจว่าสัตว์ได้รับการจัดการในสภาพที่หลีกเลี่ยงต่อการทุกข์ทรมานทางจิตใจ เช่นการขนส่ง การจัดการชำแหละ เป็นต้น
ในทางปฏิบัติตามหลักสวัสดิกาลสัตว์ดังกล่าว การจัดการเลี้ยงดูให้สัตว์มีสุขภาพดีเป็นหัวใจสำคัญ คือ Good animal husbandry practices ได้แก่ การให้อาหารที่มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ การจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่สะอาด โปร่งโล่ง แห้ง สบาย การเลี้ยงปล่อยให้สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมธรรมชาติสัตว์ได้ออกกำลัง ไม่กักขัง ไม่เลี้ยงหนาแน่น หรือเลี้ยงขังเดียว เมื่อเจ็บป่วยต้องรักษา เป็นต้น ซึ่งแปลวิธีการปฎิบัติง่าย ๆ ด้วยหลัก 5 อ. รวมถึงสวัสดิภาพสัตว์ในการขนส่งและการฆ่าด้วย ได้แก่
อ. ที่ 1. อาหารดี
อ. ที่ 2. อากาศดี
อ. ที่ 3. อนามัยดี
อ. ที่ 4. ออกกำลังดี
อ. ที่ 5. อารมณ์ดี
"ความเครียด" เป็นผลจากการจัดการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ดี จะส่งผลทั้งทางร่างกายและจิตใจของสัตว์ จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเครียดทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง เป็นความซับซ้อนของระบบในร่างกายของระบบประสาทและอวัยวะผลิตฮอร์โมน เมื่อเกิดความเครียดระบบประสาทจะส่งสัญญาณให้ต่อมใต้สมอง Hypothalamic-pituitary-adrenal cortex axis (HPA-Axis) และต่อมหมวกไต Symphathetic-adenal-medullar axis ทำให้ Adrenal gland หลั่งฮอร์โมนที่ไปกดการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (Plotnikoff และคณะ, 1991) ดังนั้นหากสัตว์เกิดความเครียดจะทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง และทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่นสัตว์น้ำหนักลด ให้ผลผลิตลดลง คุณภาพสัตวลดลง และมีค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
การทำให้สัตว์มีสุขภาพดีไม่เพียงเพื่อสวัสดิภาพสัตว์เท่านั้น แต่เพื่อไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะและยาถ่ายพยาธิในการเลี้ยงสัตว์ เพราะการใช้ยา และสารเคมีทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพของคน การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาถ่ายพยาธิทำให้ถูกขับถ่ายออกมากับมูลไปกระทบต่อระบบนิเวศเกษตร คือทำให้จุลชีพในธรรมชาติพัฒนาตัวเองให้ดื้อยา และประการสำคัญทำให้ยาตกค้างในผลผลิตที่มนุษย์บริโภค มีผลให้คนดื้อต่อยารักษาโรค ดังนั้นผลิตผลเกษตรอินทรีย์จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคโดยวิธีการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ด้วยการจัดการเลี้ยงสัตว์ที่จัดการคล้ายธรรมชาติของสัตว์มากที่สุด (Natural Living) อย่างเข้มงวด
ไข่ ไก่ อินทรีย์ อารมณ์ดี